• เปิดดู
    581
วัดพระสิงห์

ตำนานพระสิงห์ พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาอย่างยาวนานมีหลักฐานปรากฏในสิหิงคนิทานบันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช ๗๐๐ ในประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่ลังกา ๑๑๕๐ ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังราชอาณาจักรไทยตามลำดับ ดังนี้ พ.ศ.๑๘๕๐ ประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย ๗๐ ปี พ.ศ.๑๙๒๐ ประดิษฐานที่พิษณุโลก ๕ ปี พ.ศ.๑๙๒๕ ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ๕ ปี พ.ศ.๑๙๓๐ ประดิษฐานที่กำแพงเพชร ๑ ปี พ.ศ.๑๙๓๑ ประดิษฐานที่เชียงราย ๒๐ ปี พ.ศ.๑๙๕๐ ประดิษฐานที่เชียงใหม่ ๒๕๕ ปี พ.ศ.๒๒๕๐ ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ๑๐๕ ปี พ.ศ.๒๓๑๐ ประดิษฐานที่เชียงใหม่ ๒๘ ปี พ.ศ.๒๓๓๘ ประดิษฐานที่กรุงเทพฯ – ปัจจุบัน ประประธาน


ความสำคัญและความเป็นมา

สาเหตุที่วัดนี้ มีชื่อว่า “วัดพระสิงห์” นั้น น่าจะเป็นเพราะครั้งหนึ่ง เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย คือ พระพุทธสิหิงค์ หรือที่เรียกกันในชื่อสามัญว่า “พระสิงห์” ปัจจุบันวัดพระสิงห์เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ (หรือพระสิงห์) จำลองศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย ชนิดสำริดปิดทอง หน้าตักกว้าง ๓๗ เซนติเมตร สูงทั้งฐาน ๖๖ เซนติเมตร

พระประธานในพระอุโบสถวัดพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง เนื้อสำริดปิดทอง ปางมารวิชัย สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ มีหน้าตักกว้าง ๒๐๔ เซนติเมตร สูงทั้งฐาน ๒๘๔ เซนติเมตร ที่ฐานมีอักษรล้านนาจารึกว่า "กุสลา ธมฺมา  อกุสลา  ธมฺมา  อพยากตา  ธมฺมา"

พระอุโบสถ

พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทยสมัยเชียงแสน โครงสร้างทำด้วยไม้เนื้อแข็ง สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นเมื่อราวจุลศักราช ๑๒๕๑ - ๑๒๕๒ (พ.ศ.๒๔๓๒ - ๒๔๓๓) ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกสองครั้งคือ พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยพระครูสิกขาลังการ และ พ.ศ.๒๕๓๓ โดยพระเดชพระคุณ พระราชสิทธินายก  เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์

พระเจดีย์

 พระเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทย เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับพระอุโบสถ มีการบูรณะใหม่ในปี ๒๔๙๒ และบูรณะอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๓๓ แต่เดิมทาสีขาว ปัจจุบันทาสีทองเด่นเป็นสง่า ประดิษฐานอยู่ทิศตะวันตกชิดด้านหลังพระอุโบสถ

พระพุทธบาทจำลอง

 พระพุทธบาทจำลองจำหลักบนแผ่นศิลาทราย มีขนาดกว้าง ๖๐ เซนติเมตร ยาว ๑๕๐ เซนติเมตร มีจารึกอักษรขอมโบราณ ว่า "กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา" ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่า   น่าจะมีมาแต่สมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช  ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาไทย

หอระฆัง

เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบล้านนาไทยประยุกต์ มีระฆังเป็นแบบใบระกาหล่อด้วยทองเหลืองทั้งแท่ง ซึ่งหาดูได้ยากมากในปัจจุบัน ขนาดความสูง ๒๕ นิ้ว ยาว ๓๙ นิ้ว หนา ๑ นิ้ว ขุดพบบริเวณวัดพระสิงห์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๘  ปัจจุบันชั้นล่างใช้เป็นหอกลอง

ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา

ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนา คือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้เมื่อวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ  พลโทอัมพร  จิตกานนท์  นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยความอนุเคราะห์จากท่านเอกอัครราชทูตอินเดียและอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๖ และปลูกไว้ ณ วัดพระสิงห์เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๖

ต้นสาละลังกา

ต้นสาละลังกาเป็นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ คือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับสำเร็จสีหไสยาสน์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมกิตติโสภณ นำมาจากประเทศศรีลังกา และนำมาปลูกไว้ที่วัดพระสิงห์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒

เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์

วัดพระสิงห์ มีเจ้าอาวาสที่บริหารวัดสืบต่อกันมานับแต่ปีที่สร้างวัด จนปัจจุบันจำนวน  ๙ รูป คือ

๑. ครูบาปวรปัญญา                พ.ศ.        ๑๙๔๓  - ๑๙๖๒

๒. ครูบาอินทจักรรังษี              พ.ศ.        ๑๙๖๒  - ๑๙๘๕

๓. พระอธิการอินตา                 พ.ศ.        ๑๙๘๕  - ………

๔. พระมหายศ                       พ.ศ.        …………………

๕. พระธรรมปัญญา                 พ.ศ.        ๒๔๑๓  - ๒๔๔๐

๖. พระครูเมธังกรญาณ (ป๊อก)    พ.ศ.        ๒๔๔๐  - ๒๔๗๓

๗. พระครูเมธังกรญาณ  (ดวงต๋า)  พ.ศ.      ๒๔๗๓  - ๒๔๘๘

๘. พระครูสิกขาลังการ               พ.ศ.        ๒๔๘๙  - ๒๕๒๒

๙. พระราชสิทธินายก                พ.ศ.        ๒๕๒๓  - ปัจจุบัน

การเดินทาง จากห้าแยกพ่อขุนเม็งรายกลางตัวเมืองเชียงรายให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสิงหไคล แล้วตรงเรื่อยๆ ผ่านศาลากลางหลังเก่า วัดพระสิงห์อยู่ทางซ้ายมือ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :: สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม วัดพระสิงห์ ถ.สิงหไคล (อยู่ทางด้านซ้ายมือตรงข้ามกับสำนักงาน ททท ภาคเหนือเชียงราย)

โทร / แฟ็กซ์ :: 053-711735

โฮมเพจ / เว็บไซต์ :: http://www.watphrasingha.com