• เปิดดู
    939
สุสานนายพลต้วน ซี เหวิน

สุสานนายพลต้วน ซี เหวิน อดีตผู้นำทหารจีนฮ่อแห่งกองพันที่ 5 กองพล 93 เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมขึ้นไปเคารพศพนายพลต้วน โดยตัวสุสานสร้างด้วยหินอ่อนทั้งหมด แท่นหินอ่อนบรรจุร่างนายพลต้วน ซี เหวิน อยู่ภายในศาลาเก๋งจีนขนาดใหญ่ สีขาว พื้นปูหินอ่อน ด้านหลังแท่นบรรจุศพ มีภาพถ่ายเก่าแก่เกี่ยวกับประวัติและผลงาน 
 กองพล 93 (ก๊กมินตั๋ง) เป็นกองทัพของรัฐบาลจีน ภาคใต้ของจอมพลเจียง ไค เช็ก ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลจีนที่ส่งมารักษาชายแดนจีน-พม่า การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลจีนกับกองทัพทหารพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อ ตุง ทำให้เจียง ไค เช็ก พ่ายแพ้และหนีไปอยู่ไต้หวัน กองพล 93 ก็เลยกลายเป็นทหารไร้สังกัด หนีการกวาดล้างของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็มาตั้งหลักอยู่ที่เมืองเชียงลับ ในเขตประเทศพม่า โดยมีอาสาสมัครและครอบครัวลี้ภัยตามออกมาสมทบมากมาย จนได้จัดเป็นกองทัพได้ ๕ กองทัพ ภายใต้คำบัญชาการของนายพล หลี่ หมี
   ปี 2504 รัฐบาลพม่าดำเนินการปราบปรามกองกำลังทหารจีนพลัดถิ่นเหล่านี้อย่างจริงจัง ทำให้กองกำลังของนายพลหลี่ หมี พ่ายแพ้ และกองทัพที่ 1, 2 และ 4 จำนวน 4,349 คน ได้ถูกส่งตัวไปไต้หวัน คงเหลือแต่กองทัพที่ 3 ของนายพลหลี่ เหวิน ฝาน และกองทัพที่ 5 ของนายพล ต้วน ซี เหวิน ที่ไม่ไม่ต้องการไปไต้หวันและได้นำกำลังอพยพหนีการกวาดล้างของพม่าเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยไต้หวันประกาศจะไม่สนับสนุนช่วยเหลือกองกำลังที่ตกค้างเหล่านี้อีก ในที่สุด กองทัพที่ 3 ก็มาถึงอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และกองทัพที่ 5 มาปักหลักอยู่ที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้พลทหารเอกทวี จุลทรัพย์ และ พลโทเกรียงศักดิ์ ชนะนันทน์ เป็นผู้เจรจากับไต้หวันแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนในปี 2513 อเมริกาก็ได้ตกลงเข้ามาช่วย รัฐบาลไทยจึงอนุญาตให้กองทหารจีนอยู่ได้ในฐานะผู้อพยพ เพื่อเป็นกองกำลังกันชนตามแนวชายแดน ป้องกันการแทรกซึมของ ผกค.และพลอากาศเอก ทวี ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่าบ้านสันติคีรี หมายถึงหมู่บ้านในขุนเขาที่สงบสุข ในขณะที่คนจีนเรียกว่าเรียกดอยนี้ว่า เหมย ซือ เล่อ อันเป็นความหมายเดียวกันว่า ดินแดนที่มีความสุข 
   หลังจากนั้น กองกำลังทหารจีนของนายพลต้วน ซึ่งภายหลังได้ชื่อว่ากองทหารจีนคณะชาติก็ได้เป็นกำลังสำคัญร่วมต่อสู้ต่อต้าน ผกค. ในแถบจังหวัดเชียงรายหลายครั้ง โดยสามารถลดอิทธิพล ผกค.บนดอยหลวง ดอยยาว และดอยผาหม่นลงได้มาก รวมถึงสมรภูมิเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นภาระกิจสุดท้ายก่อนปลดอาวุธให้รัฐบาลไทย
   จากหมู่บ้านกองกำลังทหารกลายมาเป็นหมู่บ้านการเกษตรคงไม่ง่ายนัก จากการดำรงชีวิตด้วยการรับจ้างลำเลียงฝิ่น การตั้งด่านภาษีเถื่อนและการค้าอาวุธสงครามก็ต้องยุติ แผ่นดินถูกพลิกฟื้น พืชพรรณไม้เมืองหนาวจากโครงการหลวง ชาพันธ์อัสสัม ชิงชิง และอูหลง ได้ส่งมาจากไต้หวัน ชาวบ้านก็มีความหวังใหม่และได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา 
   ดอยแม่สลองได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ โดยมีนายพล ต้วน ในฐานะหัวหน้าหมู่บ้าน เป็นผู้ประสานงานกับทางราชการ ทุกวันนี้คนบนดอยแม่สลองก็ยังพูดถึงนายพลผู้นี้ด้วยความชื่นชมถึงการดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านจนวาระสุดท้ายในปี พ.ศ.2523

ดอยแม่สลอง

ดอยแม่สลอง

          ด้านหน้าเป็นลาดเนิน มีตัวอักษร "ต้วน" ภาษาจีน สีทองบนพื้นสีฟ้า สุสานนายพลต้วน ตั้งอยู่บนเนินเหนือหมู่บ้าน ระดับความสูงประมาณ 1,300 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2523 บริเวณที่ตั้งสุสานยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ของดอยแม่สลองได้อย่างกว้างไกล สามารถมองเห็นบ้านสันติคีรีในหุบต่ำลงไปเบื้องล่าง เป็นจุดชมทิวทัศน์ของหมู่บ้านที่ดีจุดหนึ่ง 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :: องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองนอก

โทร / แฟ็กซ์ :: โทร 053 765129 แฟกซ์ 053765409

โฮมเพจ / เว็บไซต์ :: -